คำนิยาม 5 กลุ่มสุขภาวะ

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึงสิ่งต่างๆ (สิ่งแวดล้อม) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งที่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เช่น สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งแวดล้อมจะประกอบด้วทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์นั่นเอง
การคำว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” และ “สิ่งแวดล้อม” รวมกัน เนื่องจากความคล้ายคลึงกัน คือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมบางส่วนไปใช่ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จึงหมายถึง  สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทั้งที่ใช้แล้วหมดไป เกิดใหม่ทดแทนได้ ที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในรูปของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต รวมทั้งการดำเนินวิถีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขของมนุษย์  รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ศิลปกรรม โบราณสถาน เป็นต้นใช้

กิจกรรมทางกาย หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงานโดยกล้ามเนื้อ จำแนกเป็น 3 หมวดกิจกรรม ได้แก่ การทำงาน การเดินทาง โดยการเดินหรือขี่จักรยาน และกิจกรรมนันทนาการ ได้แก่ การออกกำลังกายการท่องเที่ยว ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตประจำวัน

ความมั่นคงทางอาหาร หมายถึงการเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัยหรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการคือ
1. การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) การมีอาหารในปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพ
2. การเข้าถึงอาหาร (Food Access) การเข้าถึงทรัพยากรที่เหมาะสมรวมไปถึงสิทธิเพื่อการหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม
3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization)  การใช้ประโยชน์จากอาหารในการบริโภค โดยมีปริมาณอาหารที่เพียงพอ มีน้ำสะอาดในการบริโภค-อุปโภค มีสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่ดี
4. การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) ประชาชนหรือครัวเรือนหรือบุคคลต้องเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงอาหารเมื่อเกิดความขาดแคลนขึ้นมาอย่างกะทันหัน

เศรษฐกิจฐานราก คือระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้ เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ในพื้นที่ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากต้องมีแนวทางการพัฒนาและการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่นให้ครบวงจรมากที่สุด มีการสร้างทุนและกองทุนที่เข้มแข็ง มีการผลิตพื้นฐาน การแปรรูป การบริการ การตลาด และความจำเป็นพื้นฐานตางๆสำหรับคนในพื้นที่อย่างพอเพียง และพัฒนาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือเป็นธุรกิจของชุมชน

ปัจจัยเสี่ยง ในที่นี้คือปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ หมายถึงองค์ประกอบด้านกายภาพสังคม หรือสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพชีวิต หรือทรัพย์สินได้แก่
1.สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ไม่ปลอดภัย ปัจจัยเสี่ยงจากธรรมชาติ ปัจจัยเสี่ยงจากมลพิษ และ ปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของสัตว์นำโรค และเชื้อโรค
2.สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่ปลอดภัย เช่น ปัจจัยจากอาชญากรรม ปัจจัยเสี่ยงจากความรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ปัจจัยเสี่ยงทางเพศ ปัจจัยเสี่ยงจากสารเสพติด
3.ปัจจัยเสี่ยงโรคอุบัติใหม่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้