Last updated: 25 เม.ย 2564 | 1475 จำนวนผู้เข้าชม |
ในยุคสังคมที่เร่งรีบไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็กๆ และยิ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาด ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป เราจะเห็นได้ว่าธุรกิจการส่งอาหารออนไลน์มีมากในยุคนี้ เพราะสะดวก รวดเร็ว ทำให้การสั่งอาหารก็จะเป็นแบบอาหารจานด่วน อาหารแช่แข็ง แต่รู้หรือไม่ว่าภัยต่อสุขภาพที่มากับอาหารพวกนี้คืออะไร
กลุ่มอาหารมื้อหลักในรูปแบบแช่เย็น แช่แข็ง หรือเรียกง่ายๆว่าอาหารจานด่วน ปัจจุบันอาหารแช่แข็งในรูปแบบของข้าวกล่องพร้อมทาน มีให้เราเลือกมากมายหลายเมนู มีทั้งอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี และอาหารตะวันตก นอกจากนั้น ยังมีอาหารแช่แข็งในรูปแบบของแพนเค้ก ข้าวต้ม โจ๊ก ซาลาเปา ขนมหวาน หรือเกี๊ยวน้ำร้อนๆ เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะหิว หรือเกิดท้องร้องขึ้นมาตอนไหน อาหารแช่แข็งก็มีเมนูพร้อมตอบโจทย์ทั้งมื้อเช้า กลางวัน และมื้อเย็น นอกจากมีเมนูให้เลือกหลากหลาย วิธีการปรุงยังง่ายแสนง่าย เพียงนำอาหารแช่แข็งเข้าอุ่นในไมโครเวฟแล้วรอไม่กี่นาทีก็ได้อาหารหน้าตาน่ากินกลิ่นหอมกรุ่นพร้อมทาน ร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันยังมีบริการอุ่นฟรี แถมเรียกได้ว่าซื้อปุ๊บได้กินปั๊บ ไม่ต้องเตรียมวัตถุดิบ ไม่ต้องซื้อเครื่องปรุง หรือเครื่องครัวเองให้ยุ่งยาก ช่วยลดเวลาในการเตรียมอาหาร หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป นับว่าเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับวัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน เป็นอย่างมาก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของผู้คนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารแต่ละอย่างมีโซเดียมมาก น้อย เพียงใด หากรับประทานอาหารกลุ่มนี้ ทั้งสามมื้อในหนึ่งวัน จะได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกายหรือไม่ แม้ว่าโซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือประมาณหนึ่งช้อนชา ซึ่งข้อมูลโซเดียมของอาหารแต่ละชนิดนั้นจะต้องแสดงค่าในฉลากอาหารทุกชนิด ซึ่งอาหารที่ว่ามานี้มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 250 – 1390 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ปัจจุบันโรคไตวายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยสาเหตุการเกิดโรคไตวายส่วนใหญ่เกิดจากภาวการณ์เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเรียกว่า “โรควิถีชีวิต” สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรม “กินเค็มมากเกินไป”
กินอย่างไรให้ไม่ติดเค็ม ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง (NCDs)
1. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุปริมาณโซเดียม
2. ลดการกินอาหารแปรรูป
3. ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป
4. ลดการกินอาหารจานด่วน
5. ปรุงอาหารทานเองโดยควบคุมปริมาณความเค็มให้น้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูล : สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน : นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
30 พ.ย. 2564
19 ต.ค. 2564
25 ส.ค. 2564
1 เม.ย 2564