วิถีชิวิต New Normal งดทำลายสิ่งแวดล้อม

Last updated: 22 ต.ค. 2563  |  771 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิถีชิวิต New Normal งดทำลายสิ่งแวดล้อม

การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนเลือกใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อลดการใช้พลาสติก จึงมีโครงการชักชวนให้ร้านค้าเพิ่มช่องทางให้ลูกค้า สามารถเลือกสั่งไม่รับพลาสติกได้

ทำความรู้จักโครงการ "ขยะค่ะ มากับเดลิเวอรี่และมากับโควิด" ที่มาตอบรับวิถีชิวิต New Normal พฤติกรรมผู้บริโภคที่เบนสู่การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และเดลิเวอรี่มากขึ้น ไปพร้อมกับวิถีรักษ์โลก งดทำลายสิ่งแวดล้อม หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เริ่มดีขึ้นตามลำดับ พฤติกรรมด้านการบริโภค กับ การทำงาน ของคนได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมีผลมาจากมาตรการรองรับการแพร่ระบาดจากรัฐบาลที่รณรงค์ให้ประชาชน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เพื่อรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) หรือการกักตัวเองอยู่บ่าน (self- quarantine)

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การสั่งซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคผ่านออนไลน์ กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาในสภาวะการณ์เช่นนี้ ส่งผลให้การบริการส่งของออนไลน์ (delivery service) เติบโตแบบก้าวกระโดด พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา การใช้บริการสั่งอาหารผ่านแพล็ตฟอรม์ Grab เติบโตขึ้นถึง 3 เท่า เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ใช้รายเดิมและรายใหม่ และช่วงเวลาที่มีผู้บริโภคใช้บริการสั่งเพิ่มขึ้น คือ มื้อเที่ยงและมื้อเย็น

"ชุลี หวังศิริเลิศ" ผู้รับผิดชอบโครงการ "ขยะค่ะ มากับเดลิเวอรี่และมากับโควิด" เปิดเผยว่า จากตัวเลขการให้บริการที่เติบโตของ Grab บอกได้ว่าเป็นการปรับตัวของประชาชนเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิใหม่ New Normal ที่เลือกใช้บริการเดลิเวอรี่ แทนการออกไปนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัส

ด้วยเหตุนี้เองเธอและกลุ่มเพื่อนที่มีใจรักที่จะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงรวมตัวกันเพื่อทำโครงการ "ขยะค่ะ มากับเดลิเวอรี่และมากับโควิด" ขึ้นมา โดยนำวิธีคิดที่ต้องการจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ถุงพลาสิก หรือสิ่งที่ทำลายย่อยสลายยาก นำไปผนวกเข้ากับการให้บริการเดลิเวอรี่อย่าง Grab และ Line Man หรือตามสั่ง-ตามส่ง แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการให้บริการส่งอาหารตามที่ลูกค้าสั่งจากร้านอาหารต่างๆ

สำหรับการทำงานของโครงการฯของเธอนั้น คือ ประสานกันแพลตฟอร์มของเดลิเวอรี่ ประสานกับร้านค้า เพื่อบอกถึงแนวคิด และชักชวนให้ร้านค้าเพิ่มข้อมูลเข้าไปในเมนูการสั่งของลูกค้า เพื่อลดการใช้พลาสติก เช่น มีเมนูให้ลูกค้าเลือกว่าจะรับ ซองพริก-น้ำปลา-น้ำส้ม และช้อนส้อม-ช้อนพลาสติก ด้วยหรือไม่ เพราะของเหล่านี้ย่อยสลายยาก และพบว่าลูกค้าจำนวนมากไม่ต้องการ เพราะรับทุกครั้งและเก็บไว้จำนวนมากที่บ้านโดยยังไม่ได้ใช้ ขณะเดียวกันร้านค้าเองก็มองว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ลูกค้า ถ้าไม่ให้ลูกค้าอาจจะไม่พอใจ

ดังนั้น การมีช่องให้ลูกค้าติ๊กว่า จะรับหรือไม่รับ จึงเป็นตัวเลือกที่ดี ที่จะทำให้ร้านค้าทราบว่า ลูกค้าไม่ต้องการ และเป็นการช่วยลดปัญหาการย่อยสลายพลาสติกย่อยยากจากถุงที่ใส่เครื่องปรุงประเภทนี้ด้วย

พร้อมกันนั้นยังมีทางเลือกให้ลูกค้าทางเลือกหนึ่ง คือ จะเอากล่องแบบปกติ ซึ่งก็คือ กล่องโฟม หรือกล่องชานอ้อย ซึ่งย่อยสลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้กล่องชานอ้อยนี้ ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกนิดหน่อยเพื่อช่วยกันรักษ์โลก รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในเบื้องต้น ทางโครงการได้ช่วยจ่ายเงินเริ่มต้นให้กับร้านค้าที่ร่วมกับโครงการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างของกล่องชานอ้อยให้กับลูกค้าก่อน เพื่อเป็นการนำร่องให้ให้ร้านค้านั้นๆ ได้มีเงินหมุนเวียนในการซื้อกล่องชานอ้อยมาให้บริการลูกค้าก่อน

"ส่วนตัวมองว่า การที่เราให้ความสำคัญลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ากับชีวิตแบบ New Normal เพราะสุดท้ายแล้วปัญหาของสิ่งแวดล้อมนำพามาสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพในอนาคต ดังนั้นช่วงนี้ที่มีโรคระบาดโควิด เราก็ปรับตัวกันอยู่แล้ว ออกนอกบ้านน้อยลง สั่งอาหารเดลิเวอรี่มาทานกันทุกวัน ก็เอาร้านค้ามาปลั๊กอินกับบริการเดลิเวอรี่ เพื่อเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ก็จะทำให้การใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้รับผลดีเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย"

นายรัฐธนันท์ เตมีย์ เจ้าของร้านจิไก่ย่างรสเด็ด ไก่ย่างวิเชียรบุรี ซึ่งเปลี่ยนจากใช้กล่องโฟม มาเป็นกล่องชานอ้อยใส่ไก่ย่างให้ลูกค้า เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทราบถึงปัญหาเรื่องขยะจากภาชนะใส่อาหารพลาสติกและกล่องโฟม มาตลอด เคยคิดอยากเปลี่ยน แต่ติดปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อได้คุยกับทางโครงการก็รู้สึกยินดีและตัดสินใจร่วมด้วยทันที เปลี่ยนเอากล่องชานอ้อยใส่ไก่ย่าง แทนกล่องโฟม เพราะนี่เป็นสิ่งที่ตนเองอยากทำอยู่แล้ว และในเบื้องต้นทางโครงการได้ช่วยนำกล่องชานอ้อยมาให้ลองก่อน เพื่อให้เป็นการเริ่มต้น ทำให้ตนมีต้นทุนเพื่อต่อยอดทำเองต่อได้ แม้โครงการจบแล้ว หลังจากนี้ร้านก็จะทำต่อเนื่องไปตลอด และอยากให้กล่องชานอ้อยเป็นทางเลือกทางเดียวแก่ลูกค้า เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้กล่องโฟมอีก

ขณะที่นายธนากร สมสุข ร้าน Jack Diamond บอกว่า ร้านของเขามีนโยบายรักษ์โลกมาตั้งแต่เปิด ลดขยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้กล่องโฟมใส่อาหาร และเชื่อว่ามีลูกค้าจำนวนมากก็คิดเหมือนกัน ห็นได้จากมีมีลูกค้าจำนวนมากแจ้งผ่านการสั่งทางออนไลน์ว่า ไม่ขอรับช้อนพลาสติก

"การที่ได้ร่วมงานกับโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นว่า มีอะไรอีกบ้างที่ช่วยลดปริมาณขยะ หรือลดโลกร้อนได้อีก การที่เราได้รู้เพิ่มขึ้น ก็ช่วยได้มากขึ้น ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก โครงการนี้จึงตอบโจทย์การทำงานของร้านเรามากครับ"

ส่วนร้านบะหมี่ไก่กรอบ ลาดหญ้า เป็นอีกร้านหนึ่งที่เพิ่มเมนู รับหรือไม่ รับซองเครื่องปรุง ให้ลูกค้าเลือกในแอปพลิเคชั่นออนไลน์การสั่งอาหาร นายเจตณัฐ แก้วยวน เจ้าของร้าน เปิดเผยว่า เปิดร้านมาหลายปี แต่ไม่เคยนึกถึงเรื่องเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้ามาก่อน ไม่เคยนึกว่าลูกค้าต้องการซองเครื่องปรุงหรือไม่ คิดแต่ในมุมของร้านค้าว่า เมื่อลูกค้าสั่งต้องส่งพร้อมเครื่องปรุง จนเมื่อได้เข้าร่วมโครงการ และเพิ่มตัวเลือกจากการสั่งทางออนไลน์ ให้ลูกค้าเลือกว่า จะรับซองเครื่องปรุงหรือไม่ ปรากฏว่า วันแรกที่ใช้เมนูนี้ มีลูกค้าเลือกมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์?ว่า ไม่ขอรับเครื่องปรุง รู้สึกประหลาดใจ และให้ลูกค้าเลือกเมนูแบบนี้ สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องพลาสติกย่อยสลายยากแล้ว และ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในแก่ทางร้านด้วย

เนื่องจากร้านมีอยู่ 3 สาขา เวลาสั่งของ จึงต้องสั่งจำนวนมาก เมื่อรู้ว่าลูกค้าไม่ต้องการซองเครื่องปรุง ปริมาณการสั่งซื้อก็ลดลง ทำให้ลดต้นทุนตามไปด้วย เป็นผลพลอยได้จากการลดปัญหาขยะและได้ลดต้นทุนด้วย

"โครงการนี้ได้ช่วยกระตุ้น ทำให้เราเข้าใจ และรู้สึกว่าต้องช่วยกัน มีลูกค้าจำนวนมาก็ไม่อยากรับ อาจจะมีเหตุผลจากได้รับมากเกินไปแล้วไม่ได้ใช้ หรือ อาจอยากช่วยลดโลกร้อน แต่ไม่ว่าจะเหตุผลไหน ผมก็ว่าเป็นผลดีทั้งสิ้น เพราะ การไม่ใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติก ช่วยลดปัญหาการทำลายโลกได้จริง หลังจากนี้ ทางร้านจะทำต่อเนื่องและหาทางช่วยลดตัวอื่นๆ เพิ่มด้วย ช่วยกันคนละนิดโลกของเราจะได้น่าอยู่ยิ่งขึ้น"

ความร่วมมือของร้านค้า3 ร้านนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เพราะปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้ว 11 ร้าน แบ่งเป็นย่านฝั่งธน และ ย่านลาดพร้าว ซอย 101 โดยย่านฝั่งธน ใช้ชริการ Grab หรือ Line Man ตามที่ลูกค้าถนัด ส่วนที่ลาดพร้าว 101 ใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่น ตามสั่ง-ตามส่ง เครือข่ายอีกโครงการหนึ่งซึ่งทำงานร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส.

ด้านนางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนัก 6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้รู้ว่า ทุกคนอาจจะใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ อีกไม่ได้แล้ว ควรต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ New Normal รวมถึงการทำงานของ สำนัก 6 และ สสส.เองก็ต้องปรับตัว เพราะเราก็เป็นระบบหนึ่งที่จะต้องช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ สสส.ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

ส่วนการทำงานของแผนสร้างสรรค์โอกาสนั้น คิดว่า New Normal เป็น โอกาสที่ดี อาจเป็นการพลิกวิธีคิดของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพไปจากเดิม วิกฤติครั้งนี้อาจช่วยกระตุ้นให้คนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อสุขภาพของตัวเองมากขึ้น อะไรที่ไม่ดีกับตัวเองก็ค่อยๆ ลด หรือ เลิกไป

ส่วนเรื่องของขยะ เป็นสิ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญมาตลอด โดยเฉพาะขยะจากอาหาร ซึ่งวิกฤติครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า ขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมของการบริโภคของเรา จากการใช้บริการเดลิเวอรี่ โดยเราลืมคิดว่า สิ่งที่มากับการสั่งคือ ขยะที่ย่อยสลายยาก สั่งอาหารครั้งหนึ่งได้ขยะติดมา 4-7 ชิ้น จากถุงเครื่องปรุง แพคเกจที่ห่อ ช้อนพลาสติกที่ติดมา สิ่งเหล่านี้คือ ขยะ ที่เพิ่มมากับบริการความสะดวกสบายของเราทั้งสิ้น

"เรื่องกินเป็นเรื่องที่ส่งปัญหากับสิ่งแวดล้อมแบบตรงไปตรงมา เมื่อไหร่ที่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคน เราเลยคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นก็ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้สะดวกกับการกิน แล้วได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เช่นเลือกไม่รับซองเครื่องปรุง ไม่รับช้อนพลาสติก เลือกกล่องชานอ้อยแทนกล่องโฟม เพราะร้านค้ามีตัวเลือกให้อยู่แล้วว่าจะรับหรือไม่รับ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ สสส.ให้ความสำคัญและทำมาตลอด"

โครงการ"ขยะค่ะ มากับเดลิเวอรี่และมากับโควิด" เป็นอีกหนึ่งที่เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีใจและต้องการช่วยให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤติโควิไวรัส-19 นี้ และพยายามช่วยให้ทุกคนได้ปรับตัวและใช้ชีวิตแบบ New Normal ให้มีความสุขมากที่สุด ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่ง ของ โครงการ"พลเมืองไทย สู้ภัยวิกฤติ"โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส.

ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้